ประวัติและพัฒนาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

        เมื่อกล่าวถึงประวัติและความเป็นมาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั้น สามารถแบ่งออกเป็น ๗ ยุค กล่าวคือ ยุคการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ยุคเริ่มการจัดการศึกษา ยุคปรับปรุงและขยายการศึกษา ยุครับรองปริญญาบัตรและสถานะของมหาวิทยาลัย ยุคพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ยุคเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ยุครุ่งเรืองของของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

๑.๑ ยุคการก่อตั้งมหาวิทยาลัย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้น โดยให้ย้ายการสอนพระปริยัติธรรมจากศาลาบอกพระปริยัติธรรมภายในวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปตั้งที่วัดมหาธาตุ เพื่อเป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายและคฤหัสถ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐ และโปรดให้เรียกว่า มหาธาตุวิทยาลัย

มหาธาตุวิทยาลัยได้เปิดทำการสอนเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๒ ต่อมา พระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้ยกร่างพระราชบัญญัติฉบับแรกของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรียกว่าร่างพระราชบัญญัติมหาธาตุวิทยาลัย ร.ศ.๑๑๑ (พ.ศ.๒๔๓๕) ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงนำเข้าปรึกษาในที่ประชุมเสนาบดี ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังไม่ได้ลงพระปรมาภิไธย จึงถือว่ายังมิได้เป็นพระราชบัญญัติที่มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด

ประเด็นที่น่าสนใจในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ซึ่งมี ๒๔ มาตราอยู่ที่มาตรา ๑ ที่กำหนดให้วิทยาลัยแห่งนี้เป็นสถานศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ดังนี้

“มาตรา ๑ มหาธาตุวิทยาลัยนี้ให้ตั้งขึ้นโดยราชูปถัมภกบำรุงพระบรมพุทธศาสนาเป็นที่สั่งสอนพระบาลีคัมภีร์พระไตรปิฎก พุทธพจนภาษิต แก่ภิกษุสามเณร ฝ่ายคณะมหานิกายและคฤหัสถ์ตามแต่มีความศรัทธาจะศึกษาสืบเสาะข้อวัตรปฏิบัติพุทธภาษิตซึ่งจะได้เป็นคณาจารย์สืบไป”

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้คิดแบบสร้างถาวรวัตถุ เรียกว่า “สังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย” ขึ้นในวัดมหาธาตุ เพื่อใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญพระราชกุศลพระศพสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และทรงประสงค์จะอุทิศถวายถาวรวัตถุนี้เป็นสังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัย เพื่อเป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรมและวิชาชั้นสูง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาก่อพระฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๙ และได้พระราชทานเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัยเป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของพระองค์ ตามประกาศพระราชปรารภในการก่อพระฤกษ์สังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ.๒๔๓๙) ความตอนหนึ่งว่า

“จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งวิทยาลัยที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกแลวิชาชั้นสูงขึ้น ๒ สถานๆ หนึ่งเป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ได้ตั้งไว้ที่วัดบวรนิเวศวรวิหาร พระอารามหลวง พระราชทานนามว่า มหามกุฎราชวิทยาลัย …อีกสถานหนึ่งเป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ได้ตั้งไว้ที่วัดมหาธาตุ ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงนี้ มีนามว่ามหาธาตุวิทยาลัย ได้เปิดการเล่าเรียนแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ ศก ๑๐๘ สืบมา แต่สังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัยนี้ยังไม่เป็นที่สมควรแก่การเล่าเรียน… เมื่อการบำเพ็ญพระราชกุศส่วนนั้นเสร็จแล้วจะได้ทรงพระราชอุทิศถวายถาวรวัตถุนี้เป็นสังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัย เพื่อเป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรมแลวิชาชั้นสูงสืบไปภายหน้า พระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อให้เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสืบไป…”

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนเดิมในนามมหาธาตุวิทยาลัยตลอดมา จนกระทั่งวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ พระมหาเถรานุเถระ ฝ่ายมหานิกายจำนวน ๕๗ รูป มีพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทัตตเถร) เป็นประธานได้ประชุมกัน ณ ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุฯ ประกาศให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ดำเนินการจัดการศึกษาในรูปมหาวิทยาลัย ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เปิดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา
ในช่วงเตรียมการประชุมพระมหาเถรานุเถระเพื่อประกาศให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจัดการศึกษาในรูปมหาวิทยาลัยนั้น หลวงวิจิตรวาทการ ได้ทำบันทึกโครงการปรับปรุงมหาธาตุวิทยาลัยหรือมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อประกอบการพิจารณาของที่ประชุม
บันทึกดังกล่าวนี้ หลวงวิจิตรวาทการเสนอว่า สถานศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยที่วัดมหาธาตุนี้ ถ้าใช้ชื่อมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจะได้ประโยชน์ที่สำคัญคือมีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยตามกฎหมาย หลวงวิจิตรวาทการได้อ้างประกาศพระราชปรารภในการก่อพระฤกษ์สังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ. ๒๔๓๙) แล้วสรุปประเด็นไว้ว่า

“ชื่อมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นชื่อที่มีอยู่ในประกาศรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีผลเป็นกฎหมาย ถ้าใช้ชื่อนี้ได้ อาจทำให้สำนักเรามีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยตามกฎหมาย การให้ปริญญาจะเป็นการสมบูรณ์และทางบ้านเมืองก็จะต้องรับรองฐานะของมหาวิทยาลัยนี้เท่าเทียมมหาวิทยาลัยของบ้านเมืองเอง”

อย่างไรก็ตาม แม้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจะได้เปิดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ทางบ้านเมืองก็มิได้รับรองสถานภาพให้เป็นมหาวิทยาลัยตามกฎหมาย นั่นคงเป็นเพราะว่าประกาศพระราชปรารภในการก่อพระฤกษ์สังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย ร.ศ.๑๑๕ (พ.ศ.๒๔๓๙) ที่หลวงวิจิตรวาทการกล่าวถึงนั้นเป็นเพียงประกาศพระราชปรารภในการวางศิลาฤกษ์อาคารของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งไม่อาจถือได้ว่า เป็นพระราชบัญญัติมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ด้วยเหตุที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยไม่มีพระราชบัญญัติรับรองสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยตามกฎหมาย รัฐบาลและคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการต่างกรรมต่างวาระในช่วงเวลากว่า ๔๐ ปีเพื่อให้มีการตราพระราชบัญญัติรับรองสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยให้แก่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย