วิทยาลัยสงฆ์สุพรรณบุรีศรีสุวรรณภูมิ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ประวัติความเป็นมา

วิทยาลัยสงฆ์สุพรรณบุรีศรีสุวรรณภูมิ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร 249 ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ๗๒๐๐๑

ได้รับการยกฐานะจากหน่วยวิทยบริการคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยคณะกรรมการประจำคณะสังคมศาสตร์และสภาวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นชอบตามลำดับ ดังนี้

ในปีการศึกษา ๒๕๕๒ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับอนุมัติจากสภาวิชาการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในคราวประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ ให้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์ หรือ ป.บส. ณ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒ คณะสงฆ์จังหวัดสุพรรณบุรี โดย พระเทพสุวรรณโมลี เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี ได้มีหนังสือถึงมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อขออนุมัติเปิด หน่วยวิทยบริการขึ้น ณ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ หน่วยงานของมหาวิทยาลัย ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบและอนุมัติตามลำดับ ดังนี้

คณะกรรมการประจำคณะสังคมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นชอบ ในคราวประชุม ครั้งที่ ๕/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๒

คณะกรรมการกำกับนโยบายและแผนของมหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นชอบ ในคราวประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓ และคณะกรรมการตรวจความพร้อม การเปิดหน่วย วิทยบริการของมหาวิทยาลัย ได้เดินทางมาตรวจความพร้อมและให้ความเห็นชอบ ในคราวประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓

สภามหาวิทยาลัย ได้มีมติอนุมัติ ในคราวประชุม ครั้งที่ ๓/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๓ ให้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ และได้รับรองผลการประเมินนอกที่ตั้ง ในคราวประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา ครั้งที่ ๘/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ ได้มีมติเห็นชอบผลการตรวจประเมินซ้ำ ในหลักสูตรดังกล่าว โดยมีผลการประเมินระดับ “ผ่าน” มีนิสิต ๒๖๖ รูป/คน

สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติในคราวประชุมเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๕ ได้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มีนิสิต ๓๑๖ รูป/คน

หน่วยวิทยบริการคณะสังคมศาสตร์ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ดำเนินการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา นอกสถานที่ตั้ง สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ ในปีการศึกษา ๒๕๕๓ และสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๕ จนถึงปีการศึกษา ๒๕๖๐ มีนิสิตทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ให้ความสนใจสมัครเข้าเรียนเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณผู้เรียนเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหลักสูตรนี้มีความโดดเด่นที่ยึดโยงกับหลักการ/แนวคิดของพระพุทธศาสนา ที่เน้น กายภาวนา ศีลภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนา

คณะกรรมการบริหารหน่วยวิทยบริการคณะสังคมศาสตร์ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จังหวัดสุพรรณบุรี เชื่อว่า

“มนุษย์มีความต้องการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมสามารถหลีกเลี่ยงจากภัยคุกคาม และพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น”

จึงมีความเห็นร่วมกันว่า ควรมีการเพิ่มและสร้างโอกาสให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ ผู้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของหลักสูตรของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เลือกเข้าศึกษาทุกสาขาวิชา และเพิ่มระดับการศึกษาให้สูงขึ้นตามลำดับความต้องการของตนเอง ซึ่งเป็นวิธีการเข้าถึงอย่างเป็นธรรมด้วยการเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของความสามารถ และการเตรียมความพร้อมโดยไม่คำนึงถึง อายุ ฐานะทางสังคม เพศ ภาษา ความบกพร่องทางร่างกาย ให้สอดคล้องและเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาสังคมที่มนุษย์เผชิญอยู่อย่างแท้จริง โดยเน้นความร่วมมือในระดับภูมิภาค (Regional integration) เป็นหลัก

การจะกระทำภารกิจดังกล่าวนี้ให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลนั้น จำเป็นต้องยกระดับ หน่วยวิทยบริการไปสู่วิทยาลัยสงฆ์ เพื่อให้มีศักดิ์และมีสิทธิ์ในการบริหารจัดการพันธกิจหลัก ๔ ด้านอย่างสมบูรณ์ คือ การจัดการเรียนการสอน การค้นคว้าวิจัย การบริการสังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะการให้บริการแก่ตัวบุคคลและสังคม โดยมุ่งจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจ และสังคม เป็นการปลูกวิถีธรรม ชี้นำอนาคตที่ดีต่อไป

คณะกรรมการบริหารและคณาจารย์เจ้าหน้าที่ได้มุ่งมั่นพัฒนาทุกด้านจนเห็นว่ามีความพร้อมในการที่จะขอยกฐานะจากหน่วยวิทยบริการเป็นวิทยาลัยสงฆ์ได้แล้ว จึงเสนอเรื่องผ่านคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยไปตามลำดับ

พระเดชพระคุณ พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีในขณะนั้นลงนามในคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจความพร้อมในที่ตั้งหน่วยวิทยบริการ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑

วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะกรรมการตามคำสั่งดังกล่าวลงตรวจหน่วยวิทยบริการ ณ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร และมีมติเห็นชอบให้นำเข้าสภาวิชาการต่อไป

วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ สภาวิชาการมีมติเห็นชอบให้นำเข้าสภามหาวิทยาลัย

วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ สภามหาวิทยาลัยมีมติเห็นชอบให้ยกฐานะหน่วยวิทยบริการ คณะสงัคมศาสตาร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เป็นวิทยาลัยสงฆ์ในชื่อ “วิทยาลัยสงฆ์สุพรรณบุรีศรีสุวรรณภูมิ”

วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓๕ ตอนพิเศษ ๑๓๙ ง ลงประกาศการยกฐานะวิทยาลัยสงฆ์ ถือว่าเป็นวิทยาลัยสงฆ์ในกำกับของรัฐโดยสมบูรณ์